ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการการดำเนินงาน
ตามแผนปฏิบัติการพื้นที่เป้าหมายป้องกันและปราบปรามการลักลอบบุกรุกพื้นที่ป่า
ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
Management Information System for The Area of Operation Action Plan for Illegal Forest Land Encroachment Protection and Control,
Department of National Park Wildlife and Plant Conservation

ความเป็นมา

ข้อมูลสถิติพื้นที่ป่าไม้จากอดีตเมื่อ ปี พ.ศ. 2516 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 138.57 ไร่ หรือร้อยละ 43.21 ของพื้นที่ประเทศ จนถึง ปี พ.ศ. 2557 – 2558 ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 102.24 ไร่ หรือ ร้อยละ 31.60 ของพื้นที่ประเทศ (สำนักจัดการที่ดินป่าไม้, 2559) จากการลดลงของพื้นที่ป่าจำนวนมากในระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ตระหนักถึงผลกระทบต่อสภาพป่าที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต จึงได้กำหนดแนวทางในการบริหารการป้องกันและปราบปรามการลักลอบบุกรุกป่า เชิงพื้นที่เป้าหมายขึ้น เพื่อจำแนกประเภทของพื้นที่เป้าหมายที่จำเป็นต้องเข้าดำเนินการออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ป่าทั้งหมดในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานท้องที่ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการ วิธีการและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเภทพื้นที่เป้าหมายแตกต่างกันตามความเหมาะสม โดยกำหนดเป็น “แผนการปฏิบัติการพื้นที่เป้าหมายป้องกันและปราบปรามการลักลอบบุกรุกพื้นที่ป่า” เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานและตรวจติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการดำเนินงานกำหนดให้มีการจัดทำข้อมูลและการรายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการพื้นที่เป้าหมายฯ รวมถึงการรายงานข้อมูลในลักษณะอื่น ๆ ตามสถานการณ์ เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบความเคลื่อนไหวของการดำเนินงานโดยตลอด (สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า, 2558)

ร้อยละพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ

ปี พ.ศ.

ภาพที่ 1 ร้อยละพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2516 – 2558

ที่มา: สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ (2559)

โดยจากผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา พบว่า การดำเนินงานตามแผนดังกล่าวที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังคงมีปัญหาอยู่มาก ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อการปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการป้องกันปราบปรามได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที โดยปัญหาสำคัญมีสาเหตุมาจาก ข้อมูลการรายงานผลขาดความน่าเชื่อถือ ความสมบูรณ์ถูกต้อง ความเป็นปัจจุบันและการตรวจสอบได้ เนื่องจากรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลไม่เหมาะสมต่อการประมวลผล มีความพร้อมต่อการสนับสนุนการรายงานผลที่ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ ขั้นตอนการดำเนินงานและข้อมูลมีความซ้ำซ้อน ข้อมูลมีการกระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศและรูปแบบการจัดเก็บที่แตกต่างกัน รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานยังมีความสับสนในการทำความเข้าใจการจำแนกสถานะประเภทพื้นที่เป้าหมายตามนิยามที่กำหนด ลักษณะพลวัตของสถานะพื้นที่เป้าหมาย ส่งผลให้เกิดความผิดพลาด และล่าช้าในกระบวนการปฏิบัติงานที่ต้องการความรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน

จากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ในปัจจุบันการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ เข้ามามีบทบาทและส่วนช่วยอย่างมาก ในการลดข้อผิดพลาด ขั้นตอนและความยุ่งยากต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มีการวิเคราะห์ ออกแบบการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ลดความซ้ำซ้อน และมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2555 – 2559 ที่กำหนดให้มีการพัฒนาและประยุกต์เทคโนโลยีเพื่อการสร้างคุณค่าข้อมูลสารสนเทศ สนับสนุนการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองรับความต้องการของทุกภาคส่วนด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีความมั่นคงปลอดภัยและประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศกับการสภาพปัญหาข้างต้นและสอดรับกับวิสัยทัศน์ดังกล่าว จึงควรมีการศึกษาและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการตามแผนปฏิบัติการพื้นที่เป้าหมายป้องกันและปราบปรามการลักลอบบุกรุกพื้นที่ป่า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความต้องการข้อมูลและสารสนเทศที่ใช้ในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการพื้นที่เป้าหมายป้องกันและปราบปรามการลักลอบบุกรุกพื้นที่ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการพื้นที่เป้าหมายป้องกันและปราบปรามการลักลอบบุกรุกพื้นที่ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและปลอดภัย ช่วยลดข้อผิดพลาดในการบริหารจัดการและมีข้อมูลที่ถูกต้องสนับสนุนการปฏิบัติงาน การบริหารจัดการพื้นที่รับผิดชอบ การตัดสินใจเชิงนโยบาย การสร้างประโยชน์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Advantage) และการบริการแก่ทุกภาคส่วน ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างยั่งยืน


แผนปฏิบัติการพื้นที่เป้าหมายป้องกันและปราบปรามการลักลอบบุกรุกพื้นที่ป่า
ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2557) รายงานว่าจากสถานการณ์การบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้อย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยมีจำนวนลดลงเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้ และสถานภาพของพืชและสัตว์หลายชนิด ซึ่งบางชนิดได้สูญพันธุ์ไปแล้ว และบางชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หายาก และถูกคุกคาม โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำลำธารของทางภาคเหนือจำนวนมากถูกบุกรุกทำลายเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดภัยพิบัติดินโคลนถล่มและอุทกภัย สร้างความสียหายอย่างมากในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มีแนวโน้มในการบุกรุกพื้นที่ป่าและลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มมากขึ้น โดยพื้นที่ป่าลดลงอย่างต่อเนื่อง จากหลายสาเหตุ เช่น การบุกรุกเพื่อทำการขยายพื้นที่ทำการเกษตร การบุกรุกครอบครองของนายทุน การออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย การขาดจิตสำนึกสาธารณะ และการบริหารจัดการของหน่วยงานที่รับผิดชอบขาดประสิทธิภาพ โดยผู้กระทำผิดได้มีการพัฒนารูปแบบและวิธีการที่สลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ใช้รูปแบบการปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยว ทั้งประเภทยืนต้นและล้มลุก การลักลอบตัดไม้มีการทำเป็นขบวนการใหญ่ใช้บุคคลที่มีอิทธิพลทางการเมือง และเงินทุนสนับสนุนการกระทำผิดเพื่อส่งขายไปยังต่างประเทศ ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงภายในประเทศอีกรูปแบบหนึ่ง และยังคงมีความรุนแรงอยู่ในปัจจุบัน ก่อให้เกิดผลกระทบและความขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ที่รุนแรง ประเทศไทยต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้มีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ป่า เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้มีความสมบูรณ์และสมดุล ประชาชนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพื่อให้มีพื้นที่ป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ และเพื่อเป็นการหยุดยั้งการบุกรุกพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า และพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ จึงได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติขึ้น ภายใต้แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยกำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินการ

โดยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2557 พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นประธานการประชุมกำหนดแผนการปฎิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ ณ ห้องประชุม 1 อาคารเทียมคมกฤส กรมป่าไม้ มีการพิจารณาแผนปฎิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบบุกรุกพื้นที่ และแผนปฎิบัติการป้องกันการลักลอบตัดไม้ โดยในการประชุมได้กำหนดแผนการป้องกันและปราบปรามการลักลอบบุกรุกพื้นที่ป่า ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดพื้นที่ในการดำเนินการออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

1. AO - 1 หมายถึง พื้นที่ในความรับผิดชอบที่คดีถึงที่สุดแล้ว

2. AO - 2 หมายถึง พื้นที่ที่ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว แต่ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม

3. AO - 3 หมายถึง พื้นที่ที่มีการบุกรุก แต่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ หรือบุกรุกใหม่

4. AO - 4 หมายถึง พื้นที่ในความรับผิดชอบส่วนที่เหลือ

ทั้งนี้ในแต่ละพื้นที่จะมีมาตรการในการดำเนินการที่แตกต่างกัน ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ป่าทั้งหมดในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานท้องที่ เพื่อความสะดวกและประสิทธิภาพในการตรวจติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนใช้เป็นข้อมูลในการประเมินตัวชี้วัดของแต่ละหน่วยงาน และเป็นฐานข้อมูลในการจัดทำงบประมาณ ประจำปี ให้สอดคล้องและเหมาะกับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ในแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการอย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีภารกิจด้านอนุรักษ์ สงวน ฟื้นฟู และดูแล ป้องกันการบุกรุกทำลายป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และบริหารจัดการด้านสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงได้มีการดำเนินงานตามแผนการป้องกันและปราบปรามการลักลอบบุกรุกพื้นที่ป่า ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยทำการกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการพื้นที่เป้าหมายป้องกันและปราบปรามการลักลอบบุกรุกพื้นที่ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชขึ้น โดยมีพื้นที่รับผิดชอบ 73 ล้านไร่ แบ่งเป็น อุทยานแห่งชาติ จำนวน 129 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน 59 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 65 แห่ง อุทยานแห่งชาติเตรียมประกาศ จำนวน 24 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเตรียมประกาศ จำนวน 2 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเตรียมประกาศ จำนวน 3 แห่ง วนอุทยาน จำนวน 119 แห่ง สวนพฤกษศาสตร์ 18 จำนวน แห่ง และสวนรุกขชาติ จำนวน 53 แห่ง (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2560)

โดยจำแนกพื้นที่ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก สอดคล้องตามแผนการป้องกันและปราบปรามการลักลอบบุกรุกพื้นที่ป่า ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า, 2558) ดังนี้

1. AO – 1 หมายถึง พื้นที่เป้าหมายฯ ที่คดีถึงที่สุดแล้ว หรือดำเนินการตามมาตรการทางปกครอง ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 จนมีความพร้อมที่จะเข้ายึด ทำลาย รื้อถอน แบ่งเป็นสถานะพื้นที่เป้าหมายย่อยได้ ดังนี้

1.1 AO - 1a หมายถึง คดีถึงที่สุดแล้ว

1.2 AO - 1b หมายถึง อยู่ระหว่างคดี หรืองดการสอบสวน มีการดำเนินการตามมาตรการทางปกครอง ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 จนมีความพร้อมที่จะเข้ายึด ทำลาย รื้อถอน

2. AO – 2 หมายถึง พื้นที่เป้าหมายฯ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญา และการดำเนินการทางปกครองตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พื้นที่มีปัญหาหรือความขัดแย้งกับคู่กรณีหรือประชาชนในพื้นที่ และยังไม่พร้อมดำเนินการยึด ทำลาย รื้อถอน แก้ไขหรือทำประการอื่น แบ่งเป็นสถานะพื้นที่เป้าหมายย่อยได้ ดังนี้

2.1 AO - 2a หมายถึง คดีมีตัวผู้ต้องหา สถานะทางคดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน และอยู่ระหว่างการดำเนินมาตรการทางการปกครองควบคู่กับการดำเนินคดีอาญา

2.2 AO - 2b หมายถึง คดีมีตัวผู้ต้องหา สถานะทางคดีอยู่ในชั้นอัยการ และอยู่ระหว่างการดำเนินมาตรการทางการปกครองควบคู่กับการดำเนินคดีอาญา

2.3 AO - 2c หมายถึง คดีมีตัวผู้ต้องหา สถานะทางคดีอยู่ในชั้นศาล และอยู่ระหว่างการดำเนินมาตรการทางการปกครองควบคู่กับการดำเนินคดีอาญา

2.4 AO - 2d หมายถึง คดีไม่มีตัวผู้ต้องหา อยู่ระหว่างการดำเนินมาตรการทางการปกครองควบคู่กับการดำเนินคดีอาญา

3. AO – 3 หมายถึง พื้นที่เป้าหมายฯ ที่ต้องสงสัยว่ามีการบุกรุก หรือตรวจพบว่ามีการกระทำผิด และอยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบ เจรจา แต่ยังไม่มีการดำเนินคดี โดยแบ่งเป็นสถานะพื้นที่เป้าหมายย่อยได้ ดังนี้

3.1 AO - 3a หมายถึง พื้นที่ป่าที่ไม่มีสภาพป่า ผู้ครอบครองไม่มีเอกสารสิทธิ์ อยู่ก่อนมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย. 41 แบ่งย่อยได้ ดังนี้

3.1.1 AO - 3aa หมายถึง พื้นที่ป่าที่ผู้ครอบครองอยู่ ก่อนประกาศเขตป่า

3.1.2 AO - 3ab หมายถึง พื้นที่ป่าที่ผู้ครอบครองอยู่ หลังประกาศเขตป่า

3.2 AO - 3b หมายถึง พื้นที่ป่าที่ไม่มีสภาพป่า ผู้ครอบครองไม่มีเอกสารสิทธิ์ อยู่หลังมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย. 41 แบ่งย่อยได้ ดังนี้

3.2.1 AO - 3ba หมายถึง พื้นที่มีการถือครองพื้นที่โดยนายทุนหรือผู้มีอิทธิพล

3.2.2 AO - 3bb หมายถึง พื้นที่มีการถือครองพื้นที่โดยประชาชนผู้ยากไร้ มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ตามคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิ.ย. 2557

3.3 AO - 3c หมายถึง พื้นที่ป่า โดยผู้ครอบครองมีการอ้างเอกสารสิทธิ์

3.4 AO - 3d หมายถึง พื้นที่ต้องสงสัย ที่ต้องตรวจพิสูจน์ เพื่อจำแนกประเภทพื้นที่

4. AO - 4 หมายถึง พื้นที่ในความรับผิดชอบส่วนที่เหลือ โดยแบ่งเป็นสถานะพื้นที่เป้าหมายย่อยได้ ดังนี้

4.1 AO - 4a หมายถึง พื้นที่ป่าธรรมชาติ ที่ไม่มีการบุกรุก ต้องดูแลรักษาไว้

4.2 AO - 4b หมายถึง พื้นที่ป่าถูกบุกรุก แต่ไม่มีผู้ครอบครองอ้างสิทธิ์ ต้องนำกลับคืนสภาพป่า

4.3 AO - 4c หมายถึง พื้นที่ป่าถูกบุกรุก ที่ได้กลับคืนมาจากการดำเนินคดีอาญา เจรจาหรือมาตรการทางปกครอง ต้องนำกลับคืนสภาพป่า

4.4 AO - 4d หมายถึง พื้นที่ป่าที่ได้คืนมาจากการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย ต้องนำกลับคืนสภาพป่า

ทั้งนี้ยังได้มีการกำหนดสถานะพื้นที่เป้าหมายฯ พิเศษอีก 2 สถานะเพื่อครอบคลุมการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ อย่างครบถ้วน ประกอบด้วย พื้นที่แก้ปัญหาเฉพาะราย และพื้นที่ให้สิทธิ/ย้ายออก

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. 2560. ข้อมูลสถิติ 2559. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรุงเทพฯ.

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2557. แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน. สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรุงเทพฯ.

สำนักจัดการที่ดินป่าไม้. 2559. รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทําข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี พ.ศ. 2557 – 2558. กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ.

สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า. 2558. เอกสารประกอบการประชุมชี้แจงซักซ้อมความเข้าใจ ในการจัดทำแผนปฏิบัติการพื้นที่เป้าหมายป้องกันและปราบปราม การลักลอบบุกรุกป่าและการทำไม้ (Area of Operation) และการจัดการไม้ของกลางในคดีความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรุงเทพฯ.